40 CEOs พลัส ประชุมนายกฯ  4 เรื่อง แก้ไขปัญหาโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

       นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมผ่าน Video Conference 40 CEOs พลัส กับ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจก็ค่อนข้างที่จะซบเซาและถดถอย

        โดยทางหอการค้าไทยและภาคเอกชน 40 CEOs พลัส พร้อมสนับสนุนและแก้ไขปัญหาร่วมกับทางภาครัฐเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน เพื่อที่ทุกภาคส่วนจะได้มีการเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ  โดยการหารือในครั้งนี้ ได้มีการเสนอแนวทางแก้ไข 4 ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1.การควบคุมการแพร่ระบาด

จัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้

การจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation
- จัดให้มี Rapid Test อย่างทั่วถึง
- สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation
- จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียง
- เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม

2.การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน

ขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ

เร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
- เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ
- เร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี
- เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 500,000 ราย พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการนำแรงงานใหม่เข้ามาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
- เร่งตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อป้องกันภาคการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ

กระตุ้นผู้มีรายได้ และผู้มีกำลังซื้อสูง นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินมากกว่า 100,000 บาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ภาคการลงทุนคึกคัก และเกิดการจ้างงานหลายแสนรายโดยภาคเอกชน

ทบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy โดยให้มีการกำหนดนโยบาย และกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท รวมถึงกำหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่

4.การฟื้นฟูประเทศไทย

การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยมุ่งเป้าความสำเร็จในเรื่องที่มีผลกระทบสูง และคนไทยได้ประโยชน์ เช่น เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษาแบบยุคใหม่ และ Food for future เป็นต้น

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วย Digital Transformation โดยเสนอให้มี Super App. ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และมีการกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน